การสวมรองเท้าส้นสูง
การสวมรองเท้าส้นสูง จะทำให้ผู้ที่สวมใส่แลดูเป็นคนมีบุคลิกภาพที่ดี แต่การใส่รองเท้าส้นสูงนั้น เราก็ต้องเลือกใส่ให้เข้ากับเสื้อผ้าที่สวมใส่ในแต่ละวันด้วย และจะต้องเป็นคนที่ได้ผ่านการฝึกฝนการใส่รองส้นสูงมาแล้ว ไม่เช่นนั้นคุณก็จะกลายเป็นตัวตลกไปเลยถ้าหากคุณใส่รองเท้าส้นสูงแล้วแต่เดินไม่เป็น แทนที่จะดูสง่างามกลับกลายเป็นว่ามันยิ่งทำให้ดูแย่เข้าไปอีก แต่การสวมรองเท้าส้นสูงบ่อยๆ ก็อาจทำให้ผู้สวมใส่มีปัญหาด้านสุขภาพตามมาได้
ปัญหาที่พบกับคุณผู้หญิงที่ชอบสวมรองเท้าส้นสูงเป็นประจำก็คือ จะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เกิดโรคข้อนิ้วหัวแม่เท้าเสื่อม แข็ง เก ผิดรูป รวมทั้งอาจเกิดรอยด้านของผิวหนังบริเวณที่ถูกเสียดสี จนทำให้เป็นตาปลา เกิดก้อนแข็ง ๆ ปูดนูนขึ้น เจ็บบริเวณเล็บ หรือเล็บขบ อีกทั้งขณะที่สวมรองเท้าส้นสูง อวัยวะบางส่วนของร่างกายต้องทำงานหนักขึ้นจนอาจเกิดผลเสียตามมาอีกได้ เช่น
- หลังส่วนกลาง อาจจะต้องบิดโค้งเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ
- กระดูกสันหลังช่วงล่าง การใส่ส้นสูงเกิน 1 นิ้วครึ่งขึ้นไป จะทำให้แนวกระดูกบริเวณนี้แอ่นมากกว่าปกติ ซึ่งจะนำมาสู่การปวดหลัง
- เชิงกราน บริเวณส่วนนี้จะถูกยกขึ้นอย่างไม่มีความสมดุล อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานอ่อนแอ
- เข่า ต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักมากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการปวดข้อต่อ และจะมีอาการอักเสบตามมา
- น่อง การเดินเขย่งด้วยปลายเท้าบ่อยๆ อาจจะทำให้กล้ามเนื้อน่องสั้นขึ้น
- ข้อเท้า ในการขยับข้อเท้าขณะที่ยังสวมรองเท้าส้นสูงอยู่นั้น หากจะทำให้ข้อเท้าทำงานผิดจังหวะ จนส่งผลให้เกิดข้อเท้าแพลงได้
- เท้า ส่วนนี้ต้องมีหน้าที่รับบทหนักกว่าส่วนอื่น เพราะต้องรักษาสมดุลของร่างกายไปด้านหน้า ส่งผลต่อกระดูกที่ฝ่าเท้าอาจมีอาการปวดเมื่อย จนถึงขั้นอักเสบได้
สำหรับอาการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ อาจจะไม่เกิดกับทุกคนเสมอไป เพราะแต่ละคนจะมีลักษณะของรูปเท้าที่แตกต่างกันออกไป เช่น คนที่รูปเท้าเรียวและอวบนูน ก็จะไม่ค่อยเกิดปัญหา แต่สำหรับคนที่รูปเท้าแบนราบ บริเวณฝ่าเท้าจะสัมผัสกับพื้นรองเท้ามากเป็นพิเศษ เพราะรองเท้าส้นสูงจะเป็นรองเท้าที่รูปทรงที่เรียวและแคบ อาจทำให้เกิดการบีบรัดมากขึ้น ดังนั้นการเลือกสวมใส่รองเท้าควรเลือกให้เข้ากับรูปเท้าด้วย และที่สำคัญคืออย่าสวมใส่รองเท้าส้นสูงติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ก็จะดีที่สุด ควรเปลี่ยนมาสวมรองเท้าที่พื้นแบนราบบ้างเพื่อเท้าจะได้ผ่อนคลายไม่ทำงานหนักจนเกินไป
Posted by
i Woman Blog
Labels:
การสวมรองเท้าส้นสูง,
ข้อเท้าแพลง,
เชิงกราน,
ปวดข้อ,
สุขภาพ,
หลังส่วนกลาง